Thursday, January 28, 2010

12 สัญญาณเตือนให้มองหางานใหม่

3:46 PM

          หากคุณกำลังเดินมาเจอทางสองแพร่งที่ต้องให้เลือกระหว่าง "อยู่" หรือ "ไป" จากงานที่ทำอยู่ นี่เป็นเหตุผลที่เราคัดมาเพื่อให้คุณลองใช้ประกอบการตัดสินใจ (ได้เร็วขึ้น)
          1. ทุกๆ ต้นปี บริษัทมีนโยบายปรับขึ้นเงินเดือนให้พนักงาน แต่คุณกลับไม่ได้รับเงินเดือนเพิ่มมานานหลายปีแล้ว
          2. ทำงานมาตั้งนาน แต่ไม่เคยได้รับความไว้วางใจให้ทำงานโปรเจ็กต์ที่ใหญ่พอจะสร้างคะแนนนิยมในตัวคุณสักครั้ง
          3. คุณไม่ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งหรือสัญญาณใดๆ จากเจ้านาย ทั้งๆ ที่ผลงาน (ที่คิดว่าเป็น) ชิ้นโบแดงเพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ
          4. ความสัมพันธ์ของคุณกับเจ้านายและเพื่อนๆ เริ่มง่อนแง่น พยายามสานสัมพันธ์อย่างไรก็ไม่ดีขึ้น
          5. ความคิดเห็นส่วนตัวหรือมุมมองของคุณไปกันไม่ได้กับวัฒนธรรมของบริษัท
          6. ชื่อเสียงในด้านลบของคุณเริ่มแพร่สะพัดไปทั่วออฟฟิศ เผลอๆ อาจขจรขจายไปไกลถึงต่างองค์กรอีก

          7. งานที่ทำเริ่มส่งผลต่อสภาพจิตใจและร่างกาย จนบางครั้งทำให้คุณป่วยการเมือง ไม่อยากตื่นไปทำงาน หรือบางครั้งก็เครียดจนปวดไมเกรน และระบบการทำงานร่างกายส่วนอื่นทำงานแปรปรวน
          8. ความมั่นคงของบริษัทเริ่มถดถอย ดูได้จากการปลดพนักงานประจำออก และเริ่มว่าจ้างฟรีแลนซ์มารับงานเป็นครั้งคราว
          9. ขอบข่ายงานที่ทำซ้ำเดิมๆ และงานที่ทำไม่ได้ช่วยให้เกิดการเรียนรู้เพื่อเพิ่มความชำนาญงานเฉพาะด้านงอกเงยขึ้น
          10. รายได้ถูกตัด แถมบริษัทยังสุมงานก้อนโต (แต่ข้อนี้ก็ต้องเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ ด้วยนะ ว่าโดนขั้นกว่าหรือเปล่า อย่างเช่น โดนเลย์ออฟ เป็นต้น)
          11. งานการที่ทำติดขัดไปทุกอย่าง ปรับตัวปรับใจไม่ได้สักที จนบางครั้งทำให้คุณรู้สึกเสียศูนย์และทำอะไรแปลกๆ แผลงๆ ไปจากที่เคย เช่น เมื่อก่อนสงบเสงี่ยมเจียมตน แต่พักหลังเริ่มพาลและพูดจาก้าวร้าว เป็นต้น
          12. ได้งานใหม่ แถมรายได้ต่อเดือนและที่ตั้งบริษัทใหม่ก็อยู่ใกล้บ้าน (!!!)

ลาออกอย่างมืออาชีพ
          หากงานเลี้ยงจะต้องมีวันเลิกรา การลาออกเพื่อพักเบรกหรือเริ่มต้นใหม่ก็ต้องจบลงอย่างสวยงามเช่นเดียวกัน
          ● ควรแจ้งการลาออกต่อผู้บังคับบัญชาทุกสายงานที่คุณเกี่ยวข้องอย่างชัดเจน พร้อมยื่นใบลาออกที่ฝ่ายบุคคล ใบลาออกที่สมบูรณ์ต้องประกอบด้วยการระบุวัน เดือน ปี ของจดหมายลาออก วัตถุประสงค์ในการลาออก วัน เดือน ปีที่จะทำงานเป็นวันสุดท้าย พร้อมเซ็นชื่อกำกับ
          ● พยายามเต็มที่กับการทำงานจนกว่าจะถึงวินาทีสุดท้ายของช่วงเวลาทำงานที่เหลืออยู่
          ● ถ่ายทอดขอบข่ายงานที่คุณรับผิดชอบแก่ผู้มารับช่วงต่ออย่างไม่ปิดบัง
          ● ควรรักษาสัมพันธภาพกับเจ้านายเก่าเอาไว้ เพราะไม่แน่ว่าวันหน้าคุณและเจ้านายอาจบังเอิญโคจรมาร่วมงานหรือประสาน ประโยชน์กันอีกก็ได้ ใครจะรู้
          ● เช็คเรื่องผลประโยชน์ต่างๆ เช่น เงินชดเชยที่ควรได้รับ วันลาพักร้อนที่ยังไม่ได้ใช้ (ฝ่ายบุคคล) เงินปันผลจากการเป็นสมาชิกสหกรณ์ (ฝ่ายงานสหกรณ์) หรือผลประโยชน์และค่าตอบแทนอื่นๆ (ฝ่ายบัญชี) ฯลฯ
          ● การลาออกไม่ใช่เรื่องที่ควรนำไปโพนทะนาให้ใครต่อใครรับทราบ ทางที่ดีควรบอกเฉพาะผู้เกี่ยวข้องก็เพียงพอแล้ว
          ● อย่าหยิบทรัพย์สินของบริษัทใส่กระเป๋ากลับบ้านไปด้วยเด็ดขาด

ขอขอบคุณ : สุดสัปดาห์ ผู้สนับสนุนเนื้อหา
ที่มา http://learning.eduzones.com/racchachoengsao/39688
คัดลอกมาจาก sanook.com อีกที

Written by

We are Creative Blogger Theme Wavers which provides user friendly, effective and easy to use themes. Each support has free and providing HD support screen casting.

0 ความคิดเห็น:

 

© 2013 คนตกงาน. All rights resevered. Designed by Templateism

Back To Top